ประวัติวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เดิมชื่อว่า “วัดสลัก” ผู้สร้างวัดแห่งนี้ไม่ปรากฏนาม แต่สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงเก่า(กรุงศรีอยุธยา) เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท(พระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑)ทรงมาพบวัดนี้แล้ว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงขอพระราชทานพระอารามจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า“วัดนิพพานนานาม”
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนิพพานาราม จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ต่อมาพระองค์ทรงประชุมพระราชาคณะให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และจัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่วัดแห่งนี้ จึงโปรดให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหาร” ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่า
เมื่อ พ.ศ ๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้เรียกวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชวรมหาวิหารว่า “วัดมหาธาตุ” ด้วยเหตุว่านามวัดดังกล่าวเป็นหลักของพระนครที่มีทุกราชาธานีในประเทศนี้ จึงควรต้องมีในพระนครอมรรัตนโกสินทร์ อีกทั้งพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป ซึ่งเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุก็มีอยู่ในพระอาราม และเป็นพระอารามที่สถิตสมเด็จพระสังฆราชเหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่า จึงพระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ใหม่ในรัชสมัยของพระองค์ว่า “วัดมหาธาตุ”
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เพื่อปฎิสังขรณ์วัดมหาธาตุ จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”
ในสิ่งปลูกสร้างทั้ง ๙ อย่างที่ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบันดังกล่าวนั้น สิ่งหนึ่งที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างให้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นประธานของวัดแห่งนี้คือ “พระมณฑป”
พระมณฑปทรงสร้างครอบพระเจดีย์ทองซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวข้างต้นนั้น นอกจากนั้นยังมีพระพุทธที่นำมาจากเมืองเหนือ เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก เมืองลพบุรี และที่กรุงเก่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนำมาประดิษฐานไว้ภายนำพระมณฑปถึง ๒๘ องค์ล้วนแต่องค์งาม ๆ ทั้งนั้น พระมณฑปนี้ทรงสร้างไว้ด้านทิศตะวันออกกึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร พระองค์ทรงเอาเครื่องไม้ที่จะทรงสร้างปราสาทในวังหน้า นำมาสร้างพระมณฑป แต่มณฑปที่สร้างด้วยเครื่องไม้นั้นถูกเพลิงไหม้ พระอุโบสถและพระวิหารก็ถูกไหม้ในครั้งนั้นด้วย พระองค์ก็ทรงให้สร้างพระมณฑปใหม่ให้เป็นหลังคาทรงโรงอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน พระมณฑปนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุโดยการก่ออิฐถือปูนทั้งพระอาราม ส่วนการบูรณะพระมณฑปให้รื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ลงรักปิดทองพระเจดีย์ทอง ประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคตได้ ๒ ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โปรดให้นิมนต์สมเด็จพระวันรัต(ฑิต) แต่ยังเป็นพระพิมลธรรมถวายพระธรรมเทศนา แล้วทรงบูชากัณฑ์เทศน์ ๑,๐๐๐ ชั่ง ทรงพระราชอุทิศเพื่อปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญในวัดมหาธาตุ คือ พระมณฑป พระอุโบสถ และพระวิหาร ให้เปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนที่ชำรุด เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ประดับกระจกหน้าบันใหม่ ฉาบปูนผนังใหม่เหมือนกันทุกหลัง แต่ที่หน้าบันพระวิหารนั้นเปลี่ยนลายเป็นรูปจุลมงกุฎของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช จากงบประมาณการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ได้มาดังกล่าว จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”
พระมณฑปนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ โดยอดีตอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเสมอมา ด้วยการบูรณะตามสภาพของส่วนที่ทรุดโทรม
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ พระธรรมสุธี (พีร์ สุชาโต) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปปัจจุบัน พิจารณาเห็นว่าพระมณฑปทรุดโทรมมากแล้ว จึงได้เชิญชวนคณะสงฆ์วัดมหาธาตุ พร้อมทั้งอุบาสก อุบาสิกา และชาวพุทธ ร่วมกันหาทุนทรัพย์ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ตรงกับวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในมงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษาในปีนี้อีกด้วย
พระอุโบสถที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างไว้นั้น ได้ถูกเพลิงไหม้ในคราวเดียวกับพระมณฑป พระองค์ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ โดยขยายตัวอาคารพระอุโบสถออกถึงแนวเขตสีมาจนเกือบชิดกับพระมณฑป จึงยกสีมาขึ้นติดกับแนวผนัง ประตูติดตั้งให้เปิดออกด้านข้าง ลักษณะพระอุโบสถอย่างนี้มีเพียง ๒ แห่งคือวัดมหาธาตุกับวัดชนะสงคราม เพราะทั้ง ๒ วัดนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยรื้อเครื่องบนเปลี่ยนตัวไม้ที่ชำรุด และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ เสริมผนังและเสาให้สูงขึ้นกว่าเก่า ๑ ศอก ลงรักปิดทองประดับกระจกใหม่ทั้งหลัง แต่ผนังข้างในยังไม่ได้เขียนใหม่ สิ้นรัชกาลเสียก่อน
ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศสวรรคตได้ ๒ ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล โปรดให้นิมนต์สมเด็จพระวันรัต(ฑิต) แต่ยังเป็นพระพิมลธรรมถวายพระธรรมเทศนา แล้วทรงบูชากัณฑ์เทศน์ ๑๐๐๐ ชั่ง ทรงพระราชอุทิศเพื่อปฏิสังขรณ์สิ่งสำคัญในวัดมหาธาตุ คือ พระมณฑป พระอุโบสถ และพระวิหาร ให้เปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนที่ชำรุด เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ ประดับกระจกหน้าบันใหม่ ฉาบปูนผนังใหม่เหมือนกันทุกหลัง จากงบประมาณการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ได้มาดังกล่าว จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยนามพระอาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชว่า “วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์”